คอลัมน์แจงสี่เบี้ย (8 มิ.ย.) กล่าวถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือด้านการเงินกับภาคธุรกิจ SME และภาคครัวเรือน ผมไม่แน่ใจว่าจะช่วยเหลือได้ทันการ
ผมได้อ่านคอลัมน์แจงสี่เบี้ย (8 มิ.ย.) ที่ประเมินมาตรการฟื้นฟูของรัฐบาล โดยมีข้อสรุปว่า “มาตรการฟื้นฟูฯ ที่เปิดตัวไปแม้จะไม่ใช่พระเอกแต่ก็ถือว่าเป็นพระรองที่มาได้ทันเวลา ช่วยเพิ่มทางเลือก…นำมาปรับปรุงมาตรการให้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเหมาะสม ตรงจุดและทันการ” ซึ่งสาระของบทความกล่าวถึงมาตรการของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับภาคธุรกิจ SME และภาคครัวเรือน ผมไม่แน่ใจว่าหากมีการทำแบบสำรวจความเห็นจะมีผู้ตอบสักที่ราย ที่บอกว่ามาตรการของรัฐในการให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือนและ SME นั้นเหมาะสมตรงจุดและทันการ
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือมุมมองว่ามาตรการช่วยเหลือภาค SME และครัวเรือนนั้นเป็น “พระรอง” โดยแนวคิดนี้ดูเสมือนว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่าต้องให้มี “พระเอก” คือวัคซีนออกมาปูพรมกำจัด COVID-19 ก่อนแล้วจึงจะให้ “พระรอง” คือมาตรการทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาในภายหลัง แต่ในหลายๆ ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีนั้น มาตรการค้ำจุนและฟื้นฟูภาคธุรกิจ (ไม่ใช่มาตรการแจกเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียว) นั้นจะต้องทำให้เพียงพอและควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข กล่าวคือจะต้องมี “พระเอก” 2-3 คนไม่ใช่รอให้พระเอกคนเดียวคือวัคซีนออกโรงทำหน้าที่ไปก่อน
สำหรับผมวัคซีนไม่ใช่พระเอกแต่เป็นเพียงอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับ COVID-19 และเป็นเพียงส่วนหนึ่งเของการปกป้องและฟื้นฟูประเทศไทย หากจะต้องเปรียบเทียบก็ต้องบอกว่า COVID-19 นั้นเสมือนกับผู้ร้ายที่แอบเข้ามาแทงประเทศไทยข้างหลังด้วยมีดที่แหลมคม ทำให้ขณะนี้มีเลือดออกภายในที่ไหลไม่หยุด
กล่าวคือปัญหาหนี้เสียและ Special Mention Loan ของ SME และหนี้สินครัวเรือนที่โตขึ้นอย่างมากจาก 80% ของจีดีพีมาเป็น 90% ของจีดีพีและจะยังเพิ่มขึ้นอีกเพราะจีดีพีหดตัวลงและหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ภาวะที่ถูกแทงข้างหลังนี้ประเทศได้โดนมา 3 ครั้งแล้ว (การระบาดเป็นระลอกๆ ของ COVID-19) แต่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือผ่าตัดเพื่อรักษาแผลอย่างตรงจุดและจริงจัง การ “เยียวยา” คือการให้กินอาหารพร้อมกับกินยาแก้ปวด แต่ร่างกายถูกมีดแทงมาแล้ว 3 แผลใหญ่ๆ และร่างกายพยายามอดทนมากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งนี้การฉีดวัคซีนนั้นคาดหวังว่าจะช่วยไม่ให้ถูกมีดแทงซ้ำอีก แต่ปัญหาคือหากไม่รีบรักษาแผลที่ถูกแทงมาแล้วหลายครั้ง โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะมีชีวิตรอดต่อไปได้นั้นค่อนข้างจะรีบหรี่อย่างมากในความเห็นของผม
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาคุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Survivor…ต้องรอด” ตอนหนึ่งว่า “ยังมีคนกลุ่มหนึ่งอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการที่รัฐออกมายังคงมีปัญหาต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อ ซึ่งกลุ่มเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบการ SME…ตัวเลขสินเชื่อ NPL บวกกับสินเชื่อ Special Mention ของ SME ที่เพิ่มขึ้นจาก 407,200 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2019 มาเป็น 674,290 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปี 2021 ที่ผมได้เขียนถึงไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นขนาดของปัญหาสินเชื่อของ SME หากคำนวณสินเชื่อ NPL+SM เป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อทั้งหมดของ SME ก็จะเห็นว่าสัดส่วนสินเชื่อ SME ที่มีปัญหาหนี้นั้นเพิ่มขึ้นจาก 8% มาเป็น 20% ในช่วงเวลาดังกล่าว
ตรงนี้หากเปรียบเทียบกับตัวเลขที่ได้มีการอ้างอิงในบทความของ ธปท.ที่กล่าวข้างต้น ก็จะเห็นมาตรการที่ออกมานั้นน่าจะมีผลในการช่วยเหลือ SME ไม่มากเช่น “เริ่มเห็นสัญญาณการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ใหม่ (และ) ล่าสุดสัปดาห์นี้มีการยื่นขอสินเชื่อฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกกว่า 10,000 ล้านบาท” และในอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า “โครงการพักทรัพย์พักหนี้ (มูลค่าวงเงิน 100,000 ล้านบาท) มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 4 ราย ยอดอนุมัติ 910 ล้านบาททั้งหมดอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ตรงนี้ต้องเปรียบเทียบว่าธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก่อน COVID-19 นั้นมีมูลค่า 3 ล้านล้านบาทหรือ 20% ของจีดีพี โดยรายได้แบ่งเป็น 2 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้อีก 1 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากว่า 1 ปีแล้ว แต่มาตรการโครงการพักทรัพย์พักหนี้นี้เพิ่งได้รับการอนุมัติออกมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการประเมินของเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ว่าหากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตรา 5% ต่อปีดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วใน 5 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีก็จะเพิ่มขึ้นจาก 89.3% ในปี 2020 มาเป็น 92.8% ในปี 2025 ซึ่งหนี้ครัวเรือนนั้นไม่ควรจะสูงเกินกว่า 80% ของจีดีพี แต่ในวิกฤติ COVID-19 นั้นหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสแต่จีดีพีหดตัวลงในช่วงดังกล่าว ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพีในปี 2019 มาเป็น 90% ของจีดีพีภายในเวลาเพียง 1 ปี
ดังนั้น พระเอกตัวจริงคือการมีแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการ “อยู่กับ COVID-19 และครอบคลุมครบถ้วนทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถจ้างงานและสร้างรายได้ให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืนพร้อมไปกับการปรับโครงสร้างหนี้ครับ.
มาตรการฟื้นฟู…พระรองที่พึ่งได้?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2