ครั้งที่แล้วผมนำเอาการประเมินเศรษฐกิจของธปท.และของซีอีโอของไทย (58 ราย) มาเสนอ ซึ่งมีข้อสรุปว่า แม้จะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ดูเสมือนว่าเสียงส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งเป็นการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับการประเมินของไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงมากกว่าที่ได้เคยคาดการณ์เอาไว้ แต่ก็ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะไม่ถดถอยและจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นไป ในกรณีของไทยนั้นธปท.และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (รวมทั้งบล.ภัมรฯ) ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ในปีนี้ แต่จะขยายตัวประมาณ 3.2-3.3% ในปี 2020
มาถึงตรงนี้ประเด็นที่น่านำมาประเมินคือการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์นั้นมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอมเอฟประเมินความแม่นยำของการคาดการณ์เศรษฐกิจเอาไว้ และผมต้องขอบอกข่าวร้ายว่าข้อสรุปคือ ทั้งไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์นั้นคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจคลาดเคลื่อน (ผิด) อย่างมาก ซึ่งปรากฎอยู่ใน “IMF Working Paper เรื่อง How Well Do Economists Forecast Recessions” (มีนาคม 2018)
ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้คือการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีของไอเอมเอฟ (ปีละ 2 ครั้งในเดือนเม.ย.และ ต.ค.) และการคาดการณ์จีดีพีของนักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ (ส่วนใหญ่คือธนาคารและบล.) ที่รวบรวมโดย Consensus Economist ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรายเดือน ทั้งนี้โดยเก็บข้อมูลการคาดการณ์เศรษฐกิจของ 63 ประเทศ (ประเทศพัฒนาแล้ว 29 ประเทศ ประเทศกำลังพัฒนา 34 ประเทศ) ในช่วง 22 ปีระหว่างปี 1992 ถึง 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 10-12% ของช่วงเวลาดังกล่าว หมายความว่าในเวลา 22 ปีนั้น เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 2.2-2.6 ปี
งานวิจัยสรุปว่าไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์ “miss the magnitude of the recession by a wide margin until the forecast horizon has drawn to a close” กล่าวคือ
1.ในช่วงเวลา 22 ปีที่กล่าวถึงข้างต้นสำหรับ 63 ประเทศนั้น มีกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งสิ้น 153 ครั้ง (เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว 86 ครั้ง ประเทศกำลังพัฒนา 67 ครั้ง) ดังนั้นจึงมีโอกาสให้คาดการณ์ (และ “แก้มือ”) ได้กว่า 150 ครั้ง ดังนั้นหากประเมินผิดซ้ำซาก ก็แปลว่ามีนัยสำคัญทั้งในเชิงของความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายและในเชิงของสถิติที่มีความหมายในเชิงวิชาการ
2.ที่น่าเป็นห่วงคือทั้งไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์จะปรับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ (การขยายตัวของจีดีพี) ลงอย่างเชื่องช้า ทำให้การคาดการณ์ความตกต่ำของเศรษฐกิจล่าช้าอย่างมาก กล่าวคือโดยรวมแล้ว 1 ปีก่อนการตกต่ำทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น ทั้งไอเอมเอฟและนักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ว่าจีดีพีในปีเศรษฐกิจตกต่ำ (จีดีพีติดลบจริง 2.8%) จะทำนายว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก 3% (ผิดไป 5.8%) และแม้เวลาจะผ่านไปจนถึงเดือนต.ค.ในปีก่อนที่เศรษฐกิจจะถดถอย (เหลือเวลาให้เตรียมการรับมือกับเศรษฐกิจเพียง 3 เดือน) นักเศรษฐศาสตร์และไอเอมเอฟก็ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว (ไม่ใช่หดตัว) ประมาณ 2.0-2.5% ต่อมาในเดือนเมษายนของปีที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยไปแล้ว (จีดีพีติดลบ 2.8%) นักเศรษฐศาสตร์และไอเอมเอฟก็คาดการณ์ว่าจีดีพีติดลบเพียง 0.5% ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะถดถอยไปแล้ว 9 เดือนในเดือนตุลาคมของปีที่เศรษฐกิจถดถอย นักเศรษฐศาสตร์และไอเอมเอฟจึงปรับการคาดการณ์จีดีพีลงไปที่ติดลบ 2.5% (ตัวเลขจริงคือติดลบ 2.8%)
3.ส่วนใหญ่นักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ถูกต้องเพราะจะคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว เกือบทุกปีและในความเป็นจริงนั้นเศรษฐกิจก็จะขยายตัวทุกปีเช่นกัน กล่าวคือจะคาดการณ์ถูกต้อง (ว่าเศรษฐกิจขยายตัวอย่างปกติ) มากถึง 1,145 ครั้ง และเคยมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะถดถอย 8 ครั้งที่ผิดพลาด (เป็นกระต่ายตื่นตูม) เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยจริงในปีต่อไป ตรงกันข้ามในกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยจริง (ในปีถัดไป) 153 ครั้ง แต่มีการคาดการณ์ผิดพลาด (คือนึกว่าเศรษฐกิจขยายตัวเป็นปกติ) ถึง 148 ครั้ง มีเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่คาดการณ์ถูกต้องในเดือน เม.ย.ของปีก่อนหน้าว่า สภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นในปีต่อไป ข้อสรุปคือการคาดการณ์เศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินจริงและมักจะไม่สามารถเตือนภัยจากการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้
4.อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลในช่วงหลังจากการเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 2009 ก็พบว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ภาวะถดถอยได้แม่นยำมากขึ้น กล่าวคือหลังจากปี 2009 เกิดภาวะถดถอยในประเทศต่างๆ ของโลก 83 ครั้ง แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผิด 78 ครั้ง กล่าวคือคาดการณ์ถูกต้อง 5 ครั้งในเดือนเมษายนของปีก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย
บทวิเคราะห์ยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์จะเริ่มปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจลง (เริ่มเห็นความผิดปกติและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ) ประมาณกลางปีของปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย แปลว่าการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นอาจมีความสำคัญในการบ่งบอกความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่าการจะรอให้นักเศรษฐศาสตร์ออกมา “ฟันธง” ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้มาถึงตัวแล้ว
เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า? (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2