กลับไปทำงานประจำ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

กลับไปทำงานประจำ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

หลาย ๆ ปีก่อนในช่วงที่ตลาดหุ้นยังปรับตัวขึ้นเป็น “กระทิง” ต่อเนื่องยาวนานนั้น เรามักพบนักลงทุนโดยเฉพาะที่ยังหนุ่มแน่นอายุไม่มากเช่น 30-40 ปีหลาย ๆ คนลาออกจากงานประจำและหันมาลงทุนเต็มตัว บางคนมีเงินก้อนหนึ่งอาจจะแค่ 2-3 ล้านบาทซึ่งเขา “คิด” ว่าสามารถทำเงินแต่ละเดือนจากการเล่นหุ้นได้ 40,000-50,000 บาท ซึ่งมากพอที่จะ “เลี้ยงชีพ” ได้ ดังนั้นเขาจึงลาออกจากงานประจำเงินเดือนน้อยนิดและน่าเบื่อเพื่อเน้นเล่นหุ้นที่จะ “ได้กำไรดีขึ้น” จากการ “ทุ่มเท” กับการ “ลงทุน” อย่างจริงจัง ในวันนี้ผมเชื่อว่าพวกเขาคงกลับมาทำงานประจำกันหมดแล้วเพราะขาดทุนหุ้นหนัก ไม่มีเงินพอเลี้ยงชีพ

นักลงทุนอีกหลายคนนั้น ประสบความสำเร็จสูงกว่าจากการลงทุนและมีพอร์ตเพิ่มขึ้นมากจนคิดว่าตนเองมี “อิสรภาพทางการเงิน” แล้ว เนื่องจากคิดว่าพอร์ตของเขาใหญ่พอที่ถ้าสามารถทำผลตอบแทนเพียงปีละ 10-20% แบบทบต้นนั่นคือได้กำไรโดยเฉลี่ยแบบนั้นทุกปีเขาก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานประจำ ตัวอย่างเช่น พอร์ตอาจจะเท่ากับ 10 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนปีละ 12% ก็จะได้เงินกำไรมาใช้ปีละ 1,200,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 100,000 บาท ดังนั้น เขาก็สามารถใช้ชีวิตที่อิสระโดยมีการลงทุนเป็นงานที่เขาชอบและเขาสามารถทำอะไรก็ได้โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไปทั่วโลก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาไม่ได้มีภาระอะไรมากมายและก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้ใช้จ่ายอะไรฟุ่มเฟือย ดังนั้น นี่คือ “ความฝัน” ที่เขาเคยคิดมานาน นั่นคือ เกษียณก่อนกำหนดมาก และใช้ชีวิตตามที่ตนเองชอบ ไม่มีจ้าวนายมาสั่งให้ทำอะไรที่ตนไม่ชอบ

เมื่อหลายวันก่อนผมได้พบกับนักลงทุนที่ห้างสรรพสินค้าที่ผมมักไปประจำ เขามาทักทายผมและแนะนำว่าชื่อ “เต้” เป็นคนที่อยู่แถวบ้านย่านเดียวกับผม เคยเห็นผมอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่ได้เข้ามาทัก เราก็เลยได้คุยกัน เขาบอกว่าตนเองเป็นนักลงทุนแนว “ไฮบริด” นั่นคือใช้ทั้งหลัก VI และเทคนิคผสมกัน มักซื้อหุ้นที่กำลังร้อนแรงและเมื่อราคาขึ้นไปทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำก็จะขายทิ้งซึ่งก็ทำให้ “รอดตัว” เมื่อหุ้นตัวนั้นตกจนบางครั้งเป็นหายนะ เขาเล่าเรื่องการเล่นหุ้นบางตัวที่เคยร้อนแรงมากและเขาได้กำไรมากเป็น “หลายแสนบาท” ก่อนที่มันจะกลายเป็นกิจการที่กำลังล้มละลายในตอนนี้ เช่นเดียวกับหุ้นอย่าง ปตท. ในช่วงก่อนที่มันจะปรับขึ้นไปหลายเท่า เขาทำกำไรกับมันเป็นกอบเป็นกำ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขา “มีอิสรภาพทางการเงิน” หลังจากลงทุนได้ประมาณ 12 ปีจากอายุ 23 ถึง 35 ปี หลังจากนั้นเขาก็เกษียณอายุออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวจากการเป็นพนักงานของบริษัทข้ามชาติผู้ให้บริการ IT แห่งหนึ่ง และเป็นนักลงทุนเต็มตัวมาได้ 7 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุ 42 ปี เขาได้กลับเข้ามาทำงานกินเงินเดือนอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้หลังจากที่ตลาดหุ้นเงียบเหงาและเขาไม่ค่อยได้ทำอะไรกับหุ้นมาประมาณ 2 ปีแล้ว หุ้นที่ถืออยู่ก็แค่ 20% ของเงินที่มีอยู่ นี่เป็นการกลับมาทำงานประจำที่ไม่ได้มาจากการที่หุ้นตกและเต้ขาดทุนหนักแต่มาด้วยเหตุผลอื่น

เมื่อเต้ตัดสินใจเกษียณตอนอายุ 35 ปีนั้น เขาคาดหวังที่จะใช้ชีวิตที่เขาชอบ เขาตัวคนเดียวไม่มีแฟนและไม่มีภาระที่จะต้องดูแลพ่อแม่แม้ว่าเขายังอยู่บ้านพ่อแม่ เขาใช้ชีวิตที่สมถะไม่ฟุ้งเฟ้อไม่เคยใช้จ่ายกับอะไรมากมาย วัน ๆ หนึ่งก็ใช้ “ไม่กี่บาท” เขาไม่ได้มีเพื่อนมากมาย เพื่อนที่เป็นนักลงทุนเขาก็ไม่ได้คบค้าเป็นเรื่องเป็นราว เขาไม่มี “ก๊วน” ลงทุนที่แลกเปลี่ยนข้อมูลหรือร่วมกันเล่นหุ้นตัวเดียวกัน เขามีแนวทางและการดำเนินชีวิตของตนเอง เขาเที่ยวต่างประเทศในช่วงต้น ๆ และก็อ่านหนังสือมาก เวลาผ่านไปหลายปีที่เขานั่งทำงานหรือลงทุนอยู่กับบ้านนั้น เพื่อน ๆ ของเขาต่างก็ทยอยแต่งงานมีครอบครัว บางคนก็คงห่างเหินกันไป ชีวิตเขาเริ่มเหงา วันหนึ่งเขาได้อ่านพบว่าคุณหมอชื่อดังคนหนึ่งอายุ 90 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังทำงานและบอกว่าเหตุผลของการทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นการทำตัวให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า มีเงินแต่ไม่ทำงานนั้นชีวิตก็อาจจะไร้ความหมาย นั่นทำให้เต้เริ่มคิดว่าการลงทุนที่ตนเองทำอยู่นั้น อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรต่อคนอื่น นอกจากนั้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เขาเริ่มคิดว่าเงินที่มีอยู่นั้นก็อาจจะไม่พอที่จะใช้ชีวิตตลอดไปเนื่องจากค่าเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมเองคิดว่าผลตอบแทนของการลงทุนที่ลดลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาน่าจะทำให้เขาเริ่มคิดว่า เขาอาจจะยังไม่ได้มีอิสรภาพทางการเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ การเจ็บป่วยรุนแรงก็อาจจะทำให้ความมั่งคั่งหายไปได้อย่างง่ายดาย

เหตุผลของเต้ที่ต้องการกลับมาทำงานยังมีต่อ เขาเริ่มรู้สึกว่าการมีสังคมของเพื่อนร่วมงานในออฟฟิสนั้นเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์และดีกว่าการนั่งทำงานอยู่คนเดียวที่บ้าน เขามีเวลาปรึกษาพูดคุยกับคนอื่น ดูเหมือนว่าเขาอยากจะมีความรักกับผู้หญิงซักคนที่จะเป็นคู่คิด เขาคงเห็นจากเพื่อนที่มีครอบครัวและบางคนก็อาจจะมีลูก ความเป็น “อิสระ” ที่จะทำอะไรก็ได้นั้นดูเหมือนว่าอาจจะเป็น “ภาพลวงตา” เวลาที่ยังไม่มีเราก็อาจจะอยากได้มันมาก แต่เมื่อเราได้มันมาจน “ชิน” แล้ว มันก็อาจจะเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยมีความหมาย เราอยากมีเพื่อน เราอยากได้รับการยอมรับ เราอยากเป็นที่พึ่งของใครบางคน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เต้กลับมาทำงานเป็น “ผู้จัดการ” ในโครงการเกี่ยวกับ IT ให้กับธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในขณะนี้ด้วยรายได้ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นเงิน 6 หลักต่อเดือน และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เต้บอกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คนเราจะต้องมีรายได้หลาย ๆ ทางตามแนวของหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” นั่นก็คือ มีทั้งเงินเดือน ปันผลหรือกำไรจากการลงทุนในหุ้น และค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น นี่จะทำให้ชีวิตการเงินของเรามั่นคงกว่าการพึ่งการลงทุนในหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว

ในความรู้สึกของผม สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปคงทำให้ความคิดของเต้เปลี่ยนไป อายุและความรอบรู้จากการอ่านและศึกษาในช่วงเวลาที่ค่อนข้างว่างในฐานะนักลงทุนเต็มตัวก็น่าจะมีส่วนมาก ในยามที่อายุยังน้อย คนก็มักจะไม่ค่อยคิดถึงอนาคตที่ยาวไกล พวกเขากล้าเสี่ยงกว่า พวกเขามีเพื่อนที่มีเสรีภาพมากกว่าในชีวิตเพราะไม่มี “ภาระ” อะไรที่จะต้องรับผิดชอบซึ่งทำให้รู้สึกสนุกสนานรื่นรมย์ แต่ทั้งหมดนั้นในไม่ช้าก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถึงตัวเราไม่เปลี่ยนแต่คนอื่นรวมถึงเพื่อนฝูงและคนรอบตัวก็เปลี่ยน ดังนั้น ความคิดและมุมมองต่อโลกของเราก็มักจะเปลี่ยน

ผมเองเห็นด้วยกับเต้ในการกลับมาทำงานประจำ มันไม่ใช่เรื่องของความล้มเหลวของการลาออกจากงานมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวตั้งแต่อายุ 35 ปีด้วยเงินที่ “ยังไม่เพียงพอ” และยังไม่ได้มี “อิสรภาพทางการเงิน” จริง ๆ เขาอาจจะตัดสินใจ “ผิดพลาด” เพราะในยามนั้นเขาอาจจะยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้รับก็ยังไม่ถูกต้องเฉพาะอย่างยิ่งที่อาจจะคิดว่าการลงทุนจะได้ผลตอบแทนสูงอย่างที่เคยได้รับไปเรื่อย ๆ และค่าใช้จ่ายที่คิดว่าจะคงที่ไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากก็คือ เต้กล้าตัดสินใจกลับมาทำงานและดูเหมือนว่าจะมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เขาเคย “หนี” จากมา เพราะผมเชื่อว่า ด้วยอายุขณะนี้และฐานะการเงินที่เป็นอยู่ เขาควรที่จะยังทำงานประจำที่มีรายได้ที่มีนัยสำคัญและมั่นคง มีสังคมที่หลากหลาย โดยที่การลงทุนนั้นน่าจะเป็นกิจกรรมรองที่สำคัญอย่างยิ่งแต่ไม่ได้ใช้เวลามาก ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันเป็นการลงทุนระยะยาว อาจจะเป็นแบบ VI หรือลงทุนในกองทุนอิงดัชนีในตลาดหุ้นที่ยังโตและมีอนาคต

ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองนั้น ผมเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 50 ปีต้น ๆ เพื่อมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ในวันนั้น ผมเองพร้อมเต็มที่ในทุกด้านที่จะใช้ชีวิตอย่างเสรีและมีความสุขที่ได้ “หนี” ออกจากงานประจำที่น่าเบื่อและ “อันตราย” ถึงวันนี้ผมคิดว่าผมตัดสินใจถูกต้องและจะไม่หวนกลับไปทำงานที่ไม่ชอบอีกเลย พอร์ตหุ้นของผมในตอนนั้นใหญ่พอที่จะสร้างรายได้ต่อปีสูงกว่า 5 เท่าของรายได้จากการทำงานประจำ นอกจากนั้น ผมเองก็สามารถใช้ชีวิตที่มี “คุณค่า” นั่นก็คือการเผยแพร่ความรู้ทางการลงทุนผ่านข้อเขียนและสื่อต่าง ๆ เช่นเดียวกับชีวิตสังคมและครอบครัวที่ “ลงตัว” หมดแล้ว ซึ่งทั้งหมดก็คือเงื่อนไขสำคัญก่อนที่เราจะเกษียณจากงานประจำ ผมคิดว่าวันหนึ่งเต้เองก็อาจจะกลับไปเกษียณก่อนกำหนดอีกครั้งก็เป็นได้เมื่อทุกอย่างพร้อม อาจจะอีก 10 ปีข้างหน้าเมื่อเขาอายุ 50 ต้น ๆ อย่างที่ผมเคยทำ และวันนั้นก็จะเป็นวันที่เขามีความสุขที่แท้จริง
Eakchai56
Verified User
โพสต์: 100
ผู้ติดตาม: 0

Re: กลับไปทำงานประจำ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

"... ผมเองก็สามารถใช้ชีวิตที่มี “คุณค่า” นั่นก็คือการเผยแพร่ความรู้ทางการลงทุนผ่านข้อเขียนและสื่อต่าง ๆ ..."
ผมเองเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่เป็นหนี้บุญคุณดร.นิเวศน์ ถ้าไม่มีท่านเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่าง เป็นแนวทางให้ยึดถือ ชีวิตผมคงประสบความยากลำบากอย่างยิ่ง เกษียณตัวเองมาดำรงชีพอยู่ได้อย่างสบายๆทุกวันนี้เพราะท่านจริงๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
Verified User
โพสต์: 3530
ผู้ติดตาม: 0

Re: กลับไปทำงานประจำ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

.
17-06-62
รายการ รู้ใช้ เข้าใจเงิน
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-11.00 น.

นาที 9.30
-ช่วงแรก พูดคุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

https://www.facebook.com/Thinkingradio/ ... =e&sfns=mo
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
โพสต์โพสต์