โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อตอนต้นปี ดิฉันได้เขียนบทความเรื่องการจัดจัดสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในปีนี้ว่า มองไปมองมา ตลาดหุ้นน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน เมื่อเทียบกับความเสี่ยง และยังเขียนว่าชอบหุ้นของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียเหนือ คือ ฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น
ผ่านไปเกือบ 4 เดือน หุ้นเอเชียเหนือมาแรงจริงๆ โดยเฉพาะจีน และฮ่องกง มาดูกันค่ะว่าเกิดอะไรขึ้น
จีนได้เซ็นสัญญาเพื่อเชื่อมต่อการลงทุนของสองตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ของเอเชียคือ ตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ที่เรียกว่า โครงการเชื่อมต่อสองตลาดหรือ Hong Kong – Shanghai Connect และเปิดให้ผู้ลงทุนจากจีนสามารถเข้าไปลงทุนในหุ้นของ 268 บริษัทในตลาดหุ้นฮ่องกง และผู้ลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงก็สามารถเข้าไปลงทุนใน 568 บริษัทในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ได้ ตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2557 หรือปีที่แล้ว
หุ้นบริษัทจีนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1. A Shares หมายถึงหุ้นของบริษัทจีนมีซื้อขายในตลาดจีน คือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ หรือ ตลาดเสินเจิ้น 2. B Shares คือหุ้นของบริษัทจีน ที่เปิดให้ผู้ลงทุนต่างประเทศลงทุน โดยซื้อขายเป็นเงินสกุลต่าง ประเทศ และมีโควตาลงทุน และ 3. H Shares คือหุ้นของบริษัทจีนที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดฮ่องกง
แต่เดิมผู้ลงทุนต่างประเทศ สามารถลงทุนในบริษัทจดทะเบียนของจีน โดยการซื้อ A Shares โดยผู้ลงทุนต้องเป็นผู้ลงทุนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เรียกว่า QFII (Qualified Foreign Institutional Investors) ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกองทุนรวมต่างประเทศ โดยมีโควตาจัดสรรให้สำหรับผู้ลงทุน
ผู้ลงทุนจำนวนมาก รวมถึงกองทุนรวมของไทยที่ลงทุนในบริษัทจีน ลงทุนผ่านตลาดหุ้นฮ่องกงโดยการซื้อ H Shares หรือซื้อกองทุนที่ลงทุนใน H Sharesค่ะ
เมื่อหุ้นของบริษัทเดียวกัน ซื้อขายอยู่ในสองตลาด ก็เป็นธรรมดาอยู่นั่นเองว่า ราคาอาจจะไม่เท่ากัน ในบางครั้งหุ้น A Shares ในตลาดจีนก็มีราคาสูงกว่า H Shares ในตลาดฮ่องกง การเปิดให้ซื้อขายระหว่างกันได้ จึงน่าจะทำให้ความแตกต่างนี้แคบลง
หลังจากมีการแถลงข่าวในวันที่ 10 เมษายน 2557 ราคาหุ้นของทั้งสองตลาดก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปกันบ้างแล้ว โดยหุ้น A Shares ในตลาดเซี่ยงไฮ้ ปรับตัวสูงขึ้น 15% จากที่เคยมีราคาต่ำกว่าหุ้นบริษัทจีนที่ซื้อขายในตลาดฮ่องกง (H Shares)และหุ้น H Shares ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% และพอถึงช่วงที่เชื่อมต่อจริงๆ ราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นหวือหวามากนัก เนื่องจากการเปิดให้ซื้อขายข้ามกันไปมานี้ มีโควตา
เงินลงทุนจากฮ่องกงที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในเซี่ยงไฮ้ เรียกว่า เงินขึ้นทางเหนือ หรือ Northbound มีโควต้าวันละ 13,000 ล้านหยวน และมีโควตารวมทั้งหมด 300,000 ล้านหยวน (ประมาณ 1.57 ล้านล้านบาท)
ในขณะที่เงินลงทุนจาก จีน มา ฮ่องกง ที่เรียกว่า เงินลงทางใต้ หรือ Southbound มีโควตาวันละ 10,500 ล้านหยวน และรวมกันไม่เกิน 250,000 ล้านหยวน (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท)
ในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ทำให้มีสภาพคล่องในระบบสูง ชาวจีนต่างหันมาลงทุนในตลาดหุ้นกันยกใหญ่ โดยในปีนี้มีผู้ลงทุนรายย่อยชาวจีนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่กันไปแล้วมากกว่า 10 ล้านบัญชี มากกว่าตัวเลขบัญชีเปิดใหม่ทั้งปี ของปี 2555 และ 2556 เสียอีก
ผู้ลงทุนใหม่เหล่านี้ มีความมั่งคั่งน้อยกว่ากลุ่มผู้ลงทุนเดิม และมีการศึกษาน้อยกว่ามาก โดยรายงานจากบลูมเบิร์กแจ้งว่า 2 ใน 3 ของผู้เปิดบัญชีหลักทรัพย์ใหม่ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุไม่เกิน 15 ปี หมายถึงมีการศึกษาชั้นสูงสุดเพียงชั้นมัธยมต้น
อย่างไรก็ดี เงินลงทุนของผู้ลงทุนใหม่เหล่านี้ ลงทุนได้เฉพาะในจีน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมหุ้นจีนจึงขึ้นไปเกิน 100% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นไป 117% และตลาดหุ้นเสินเจิ้น ปรับตัวขึ้นไป 100% ในขณะที่ตลาดฮ่องกง แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก โดยขึ้นไปประมาณ 30% เท่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ปลายเดือนมีนาคม ทางการจีนเปิดผ่อนคลายเพิ่มเติม ให้มาลงทุน ในขา “เงินลงใต้” หรือ Southbound โดยยอมให้กองทุนรวมจีน ซื้อหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในฮ่องกงภายใต้โครงการเชื่อมต่อ Hong Kong – Shanghai Connect นี้ได้ ทำให้การซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในฮ่องกงง่ายขึ้นกว่าเดิม และผู้จัดการกองทุนทั้งหลาย รีบซื้อหุ้นเพื่อฉวยโอกาสทำกำไรพิเศษ (arbitrage) จากส่วนต่างของราคาระหว่างหุ้นของบริษัทเดียวกันที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีราคาซื้อขายแตกต่างกันตั้งแต่ 30-90%
พอตลาดหุ้นฮ่องกงซึ่งมีวันหยุดยาวเนื่องจากวันเช็งเม้งและวันอีสเตอร์เปิดในวันที่ 8 เมษายน 2558 ดัชนี Hang Seng China Enterprises ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในฮ่องกง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% ในวันเดียว ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มภายในหนึ่งวันมากที่สุดในรอบ 4 ปี และดัชนีหั่งเส็งทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี ปริมาณซื้อขายท่วมท้นถึง 0.252 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ถือเป็นการซื้อขายที่มากที่สุด ลบสถิติเดิมที่เคยทำไว้ในปี 2550
ไม่เพียงแต่ตลาดจีนเท่านั้น ดัชนีตลาดหุ้นไต้หวันเพิ่งทำสถิติสูงในรอบ 15 ปี ที่ 9,913.28 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 9,913.28 และเงินดอลลาร์ไต้หวันก็แข็งค่าขึ้น ด้วยแรงเก็งกำไรว่าจะเกิด Taiwan – Shanghai Connect เปิดโอกาสให้เงินลงทุนจากจีน เข้ามาลงทุนในไต้หวันบ้าง
ข้ามโลกไปสหรัฐอเมริกาบ้าง ดัชนีตลาดหุ้นแนสแดคทำสถิติสูงสุดในวันพฤหัสบดี ที่ 5,056.06 สูงกว่าสถิติเดิม ที่เคยทำไว้ในช่วงฟองสบู่ดอทคอมที่ 5,048.62 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2000
ปรากฏการณ์หุ้นขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงการที่เงินอันเกิดจากสภาพคล่องล้นเหลือไม่มีที่ไปลงทุน ซึ่งทำให้กูรูหลายๆท่านเริ่มออกมาเตือนเรื่องฟองสบู่ในตลาดหุ้นโลก จนถึงกับคาดกันว่าฟองสบู่ตลาดหุ้นในโลกจะแตกในปีนี้
เขียนมาเพื่อเตือนใจผู้ลงทุนให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้นค่ะ ว่าการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ มีแรงส่งพิเศษจากสภาพคล่องที่ล้นเหลือ ซึ่งเมื่อใดที่เหือดแห้งลงไป ก็จะส่งผลต่อราคาแน่นอน