นโยบายเศรษฐกิจมหภาคฯ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

นโยบายเศรษฐกิจมหภาคฯ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

นโยบายเศรษฐกิจมหภาคในภาวะที่เงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างเสรี   ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เศรษฐกิจไทยปัจจุบันชะลอตัวลงโดยบางฝ่ายก็มองว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 และกลับสู่การขยายตัวในระดับปกติในปีหน้ากล่าวคือ เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% ต่อปี แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ออก 4 มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบวกกับการออกมติคณะรัฐมนตรีให้เร่งการใช้งบประมาณปี 2013 ที่เหลืออยู่ (ล้างท่อ) ประมาณ 170,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ (ประมาณ 120,000 ล้านบาท) เป็นงบลงทุนซึ่งการเร่งใช้งบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะผมเชื่อว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ากว่าในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ (จากที่จีดีพีเคยโตปีละ 7% ก่อนปี 1997 มาเหลือเพียง 3-4% ต่อปีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา) นั้นเกิดจากการที่สัดส่วนการลงทุนลดลงจากอดีตที่เฉลี่ยประมาณ 32% ของจีดีพีมาเหลือเพียง 22% ของจีดีพีในปัจจุบัน

แต่อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลคาดหวังคือ การเร่งนำเม็ดเงินลงไปในเศรษฐกิจจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวลงในระยะสั้น กล่าวคือ เป็นการมองการใช้จ่ายของรัฐบาลในมิติของการกระตุ้นอุปสงค์ตามแนวคิดของเคนส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปว่าจะได้ผลดังที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ในเงื่อนไขปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กที่เศรษฐกิจเปิด เงินทุนสามารถไหลเข้า-ออกได้โดยเสรีและอัตราแลกเปลี่ยนสามารถปรับตัวได้ตามกลไกตลาด เมื่อกล่าวถึงจุดนี้นักเศรษฐศาสตร์คงจะนึกออกว่าผมหมายถึงการนำเอา Mundell-Flemimg model (MF) มาเขียนถึงในครั้งนี้
ตามทฤษฎี MF ในกรณีที่เงินทุนไหลเข้า-ออกโดยเสรีและอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวตามกลไกตลาดนั้น จะสรุปได้ว่านโยบายการคลังจะไม่มีประสิทธิผลเลยในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยสามารถอธิบายได้ ดังนี้

1. เมื่อรัฐบาลเร่งการใช้งบประมาณก็จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่คาดหวัง แต่จะส่งผลให้ดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้นไปด้วยในระยะแรก (นักเศรษฐศาสตร์จะนึกถึงการขยับไปทางขวาของเส้น IS) 

2. เมื่อดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ก็จะทำให้เงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาทก็จะแข็งค่า แต่การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวย่อมจะทำให้การส่งออกลดลงและการนำเข้าเพิ่มขึ้น กล่าวคือการส่งออกสุทธิจะลดลงซึ่งทำให้จีดีพีหดตัวลง (นักเศรษฐศาสตร์จะเห็นการขยับกลับมาทางซ้ายของเส้น IS)

3. จึงสรุปได้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังไม่ได้ทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะทำให้เงินบาทแข็งค่าและการส่งออกสุทธิจะลดลง เท่ากับเป็นการหักล้างการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังนั่นเอง

ในทางตรงกันข้ามในภาวะดังกล่าวข้างต้น นโยบายการเงินจะมีประสิทธิผลอย่างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กล่าวคือ

1. เมื่อธนาคารกลางปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้ประโยชน์ในขั้นแรก แต่ก็จะส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทย ทำให้เงินบาทอ่อนค่า

2. การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและลดการนำเข้า ทำให้การส่งออกสุทธิปรับเพิ่มขึ้นและเป็นกลไกหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

3. แม้ว่าดอกเบี้ยจะลดลงเพียงชั่วคราว เพราะดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นกลับไปที่เดิมเมื่อเงินทุนไหลออกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอ่อนตัวของค่าเงินบาทจะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ประเด็นที่กล่าวข้างต้นเป็นการนำเอาทฤษฎี MF มาใช้วิเคราะห์ไม่ได้เป็นการเสนอแนะนโยบาย เพราะหลายฝ่ายอาจเถียงได้ว่าการใช้นโยบายการเงินไม่เหมาะสมโดยให้เหตุผล เช่น

1. เศรษฐกิจไทยมีการใช้แรงงานและทรัพยากรเต็มที่อยู่แล้ว (อัตราว่างงานปัจจุบันต่ำกว่า 1%) การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกอาจเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ

2. การอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลให้ราคาสอนค้าทั้งนำเข้าและส่งออกมากมายต้องปรับตัวขึ้น (เช่นราคาน้ำมัน) ย่อมจะเสี่ยงต่อการกระตุ้นเงินเฟ้ออีกทางหนึ่งด้วย

3. สหรัฐกำลังจะลดทอนคิวอีอยู่แล้วซึ่งเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐ (ในกรณีนี้เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งระยะกลางและระยะยาว) กำลังจะปรับตัวขึ้นอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากไทยและเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงอยู่แล้ว

แต่ผมก็ยังคิดว่าการนำเอาทฤษฎี MF มาเขียนถึงให้ครบถ้วนเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะช่วยอธิบายวิกฤติเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ผมจึงขอเล่าถึงทฤษฎี MF ต่อให้จบ ซึ่งจะกล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ดังที่เคยยึดถือมาในช่วงก่อนที่ 1997
ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่นั้นนโยบายการคลังจะมีประสิทธิผลอย่างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในทางตรงกันข้ามนโยบายการเงินจะไร้ประสิทธิผล เช่นที่ได้เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤติปี 1997 ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1993-1994 คือ

1. เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจากการเปิดให้เงินทุนไหลเข้า-ออกโดยเสรี ทั้งนี้โดยรัฐบาลต้องการให้นำเอาเงินทุนดังกล่าวไปลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยให้พึ่งพาแรงงานน้อยลง กล่าวคือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมหนักเพื่อมิให้ไทยต้องแข่งขันกับประเทศเช่นจีน อินเดีย อินโดนีเซียและยุโรปกลางที่กำลังปรับเศรษฐกิจของตนไปสู่ระบบทุนนิยม

2. เมื่อเงินทุนไหลเข้ามาก เงินบาทควรจะแข็งค่าแต่แข็งค่าไม่ได้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทโดยการเพิ่มปริมาณเงินบาท ยิ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น (แม้ว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) แต่นักลงทุนและผู้ประกอบการก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันสูง

3. ต่อมาเมื่อชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจไทยร้อนแรงเกินไป ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับดอกเบี้ยขึ้นนั้นยิ่งทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย แปลว่านโยบายการเงินไม่สามารถชะลอเศรษฐกิจลงได้ในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนถูกตรึงให้คงที่

ประเด็นคือทฤษฎี MF นั้นสามารถคาดการณ์วิกฤติของไทยได้อย่างแม่นยำและได้วิเคราะห์เอาไว้ว่าในเงื่อนไขที่ประเทศไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่นั้นต้องใช้นโยบายการคลังชะลอเศรษฐกิจลง ซึ่งหากลดการใช้จ่ายของรัฐบาล (หรือปรับเพิ่มภาษี) ก็จะส่งผล ดังนี้

1. เมื่อลดการใช้จ่ายของภาครัฐ (เส้น IS ขยับไปทางซ้าย) ดอกเบี้ยก็จะปรับลดลง ทำให้เงินทุนไหลออก

2. เมื่อเงินไหลออกเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนถูกตรึงให้คงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องขายเงินทุนสำรองและดึงเงินบาทออกจากระบบ ทำให้สภาพคล่องลดลงซึ่งจะดันให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น (เส้น LM ขยับไปทางซ้ายด้วย) และเป็นการชะลอเศรษฐกิจลงอีกทางหนึ่งด้วย

3. กล่าวโดยสรุปคือการลดทอนการใช้จ่ายทางการคลังจะช่วยชะลอเศรษฐกิจลงได้อย่างมากและหากใช้นโยบายการคลังอย่างจริงจังในช่วงนั้นเพื่อชะลอเศรษฐกิจก็อาจทำให้ไทยหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจก็ได้ แต่ในช่วงนั้นคงจะทำความเข้าใจได้ยากยิ่งว่าทำไมจึงจะต้องมาจำกัดนโยบายการคลัง เพราะคงไม่มีใครในขณะนั้นต้องการให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและรัฐบาลก็เกินดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะก็ไม่ถึง 30% ของจีดีพี

สรุปคือ แม้ทฤษฎี MF อาจจะดูเหมือนว่าเป็นทฤษฎีที่ห่างไกลจากความเป็นจริงและเข้าใจยาก แต่ผมมองว่าเป็นทฤษฎีที่สามารถทำให้เราได้คิดอย่างมีระบบและลึกซึ้ง ทั้งนี้ หากทฤษฎีมีความถูกต้องแม่นยำก็จะสามารถฟันธงได้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นโดยการเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลจะไม่ได้ผลมากนักในการกระตุ้นจีดีพีครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 19/8/56
[/size]
yoko
Verified User
โพสต์: 4337
ผู้ติดตาม: 0

Re: นโยบายเศรษฐกิจมหภาคฯ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์