เหมาะสำหรับเพื่อนๆที่ลงทุนในตปทนะครับ
ยักษ์ธุรกิจ AEC : วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
Publication: Than News - Thansettakij
Provider: Than News
June 9, 2013
![รูปภาพ](http://www.wilmar-international.com/wp-content/uploads/2012/11/banner04.jpg)
บริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ (Wilmar International) เป็นบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผู้ก่อตั้งคือนายก๊วก คูน ฮอง (Kuok Khoon Hong) หลานชายของ นายโรเบิร์ต ก๊วก อดีตมหาเศรษฐีอันดับ1 ของอาเซียน ที่เสียตำแหน่งให้กับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ในปี 2556 นี้เอง
ล่าสุดนิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับให้ นายก๊วก คูน ฮอง เป็นมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯอันดับ 554 อยู่อันดับ 24 ของอาเซียน มีสินทรัพย์สุทธิ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 78,000 ล้านบาท)
วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทที่มีมูลค่าการตลาดมากที่สุดในตลาดหุ้นสิงคโปร์โดยในช่วงต้นปี 2556 มีมูลค่าตลาด 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 840,000 ล้านบาท) มีรายได้รวมประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 720,000 ล้านบาท) มีธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจรมีโรงงานน้ำมันพืช 300 แห่งในจีน อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นบริษัทที่ครองตลาดน้ำมันพืชครึ่งหนึ่งของประเทศจีนในแบรนด์ปลามังกรทอง ส่วนในอินเดียครองตลาดใหญ่ในรัฐคุชราช และกำลังบุกครองอุตสาหกรรมน้ำตาลในเอเชีย
นายก๊วก คูน ฮอง เกิดในปี 2493 เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและพืชน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 แต่นายโรเบิร์ต ก๊วก มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของมาเลเซียผู้เป็นลุง ให้หลานนายคูน ฮอง ไปขายแป้งโดยให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เฟดเดอรัล ฟลาว มิลส์ฯ ในปี 2529 2 ปีต่อมานายฮอง ได้เสนอให้ลุงขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยขณะนั้นธุรกิจหลักของนายโรเบิร์ต คือน้ำตาล ภายใต้สมญานามว่า ราชาน้ำตาล (Sugar King)
ในปี 2532 นายก๊วก คูน ฮอง ได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ก๊วกออยล์แอนด์เกรนส์ในสิงคโปร์และมีเรื่องไม่ลงรอยกับลุง จึงได้ตัดสินใจออกจากกลุ่มก๊วกบราเธอร์ส ไปเปิดบริษัท วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ทำธุรกิจน้ำมันปาล์มร่วมกับ นายมาร์ตัว ซีโตรัส (Martua Sitorus) นักธุรกิจอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ในประเทศอินโดนีเซียในปี 2534 โดยนักลงทุนคนหนึ่งที่ร่วมซื้อหุ้นในบริษัท วิลมาร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทเปิดใหม่ในขณะนั้นคือนายปีเตอร์ ลิ้ม นักค้าหุ้นที่ลงทุนไป 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในขณะนั้น
วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ในปี 2549 และเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2550 ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นายปีเตอร์ ลิ้มได้กลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของสิงคโปร์จากเงินลงทุนก้อนนี้ ส่วนนายซีโตรัส ได้กลายเป็นมหาเศรษฐีของอินโดนีเซียจากหุ้นในบริษัท วิลมาร์ฯ เช่นกัน
ในปี 2550 บริษัท ก๊วก บราเธอร์ฯ ของนายโรเบิร์ต ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่โดยถอดเอากิจการน้ำมันพืชและไร่ปาล์ม ของครอบครัวก๊วก ในมาเลเซียคือบริษัท พีพีบีออยล์ฯและกิจการในเครือออกจากตลาดหุ้นในมาเลย์และขายให้กับ บริษัท วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ที่อยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์
บริษัท พีพีบีออยล์ฯ ที่เข้าควบรวมกับวิลมาร์ ก่อตั้งในปี 2511 เดิมเป็นไร่อ้อย และขยายตัวเป็นบริษัทเจ้าของไร่ปาล์มน้ำมัน ที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย มีไร่ปาล์ม รวมแล้วเกือบ 80,000 เฮกตาร์ในรัฐซาบาห์และซาราวัก และอีกส่วนหนึ่งในอินโดนีเซีย รวมกันแล้วประมาณ 280,000 เฮกตาร์ เมื่อรวมกันแล้ว วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันพืชครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์มีมูลค่าตลาด 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทันทีในขณะนั้น
การขายกิจการไร่ปาล์มและปาล์มน้ำมันในมาเลเซีย ให้กับบริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ มีผลให้วิลมาร์เป็นเจ้าของกิจการไร่ปาล์มและโรงกลั่น โรงงานน้ำมันพืชและเครือข่ายการจัดจำหน่าย ใน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เวียดนาม นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์และเยอรมนี ส่วนบริษัท ก๊วก บราเดอร์สฯ ของนายโรเบิร์ตและลูก ๆ ได้เป็นเจ้าของหุ้น 32% ของวิลมาร์ ซึ่งเป็นหุ้นใหญ่สุด
หลังจากที่ครอบครัวก๊วก ได้ควบรวมกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในฝั่งมาเลเซียและอินโดนีเซีย เข้าด้วยกันภายใต้การบริหารงานของนายก๊วก คูน ฮอง แล้ว บริษัท วิลมาร์ฯได้ขยายกิจการน้ำมันปาล์ม แบบโจนทะยานและรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่คือน้ำตาลจนทำให้มูลค่าตลาดของบริษัท วิลมาร์ฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
บริษัท วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯภายใต้การบริหารของนายก๊วก คูน ฮอง ขยายตัวแบบก้าวกระโดดด้วยการซื้อกิจการและร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชโดยรุกหนักในปี 2553 ด้วยการซี้อหุ้นของ บริษัท เคนคานา อะกรีฯ ซึ่งเป็นบริษัทหีบพืชน้ำมันใหญ่ที่สุดของจีนมีกำลังผลิต 15.6 ล้านตัน
ภายในปี 2555 วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลมีไร่ปาล์มในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และแอฟริกา รวมแล้วมากกว่า 326,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 2.04 ล้านไร่) โดยล่าสุดนายก๊วก คูน ฮองได้รุกเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นสูงจากน้ำมันพืชแล้ว ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ของอเมริกา ตั้งโรงงาน bio-refinery ทำก๊าซชีวภาพ เคมีภัณฑ์และโอเลโอเคมี ชั้นสูงด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่เมืองสุราบายา อินโดนีเซีย มีกำลังการผลิต 360,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้วิลมาร์ ยังได้ซื้อโรงงานผลิตโอเลโอเคมีของบริษัท คูลิมฯ (Kulim) ผลิตน้ำมันปาล์มและเจ้าของไร่ปาล์มรายใหญ่รายหนึ่งในประเทศมาเลเซียเพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่เคมีโอเลโอ
ในปี 2556 วิลมาร์ ซื้อหุ้นกว่า 50% ของไร่ปาล์มของกลุ่มโนเบิลกรุ๊ป ในรัฐปาปัว ของอินโดนีเซีย มีสัมปทานที่ดินทำไร่ 22,953 เฮกตาร์ โดยจะร่วมกันทำไร่ปาล์มน้ำมัน และเป็นช่องทางให้วิลมาร์ ทำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในปาปัว วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รุกเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2553 โดยซื้อกิจการบริษัท Sucrogen ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลดิบใหญ่สุดของออสเตรเลีย เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล 70% ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีกำลังการผลิตรวม 1.4 ล้านตัน และยังมีโครงการสร้างโรงงานน้ำตาลที่ปาปัวของอินโดนีเซียพร้อมไร่อ้อยลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ มีกำลังการผลิตอ้อย 16 ล้านตัน และน้ำตาล 1.5 ล้านตันต่อปี
ในปี 2556 มีข่าวว่าวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีแผนที่จะซื้อน้ำตาลส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลียเพื่อครองตลาดน้ำตาลและทำให้ครอบครัว ก๊วก กลับมาเป็นราชาน้ำตาลในตลาดโลกอีกครั้งหนึ่งและในคราวนี้ครอบครัว ก๊วก จะได้เป็นทั้งราชาน้ำตาลและน้ำมันพืชแห่งเออีซีพร้อมกัน
company factsheet
http://media.corporate-ir.net/media_fil ... r_2013.pdf