การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Poet
Verified User
โพสต์: 15
ผู้ติดตาม: 0

การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจค้าขาย พ่อแม่ของผมท่านเป็นคนที่น่านับถือ ท่านเริ่มสร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์ และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งด้วยการประกอบธุรกิจค้าขาย และเริ่มผันแปรเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พ่อกับแม่ผมจะมีความรู้สึกดีๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ซึ่งความรู้สึกนั้นก็ได้ถูกส่งผ่านมาที่ผม ผมถูกปลูกฝังมาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่เล็กจนโต ผมมีความฝันอยู่ตลอดเวลาว่าจะประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง ครั้งหนึ่ง สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือการทำงานเป็นพนักงานประจำ อย่างไรก็ตาม เมื่อผมค่อยๆโตขึ้นมา ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย ล่าสุดหลังจากที่ผมเรียนจบ BBA สาขาการเงิน และได้เริ่มต้นชีวิตการลงทุนในหุ้นสามัญ มุมมองความคิดของผมก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ผมเริ่มมองอะไรกว้างขึ้น ในตอนนี้ ผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อเสียของตัวมันเอง ผมเคยกลัวการทำงานเป็นพนักงานประจำ Office เพราะในตอนนั้นผมคิดว่า การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น ไม่มีทางที่จะมีอิสระทางการเงินได้ ซ้ำยังต้องทนทำงานเหนื่อยเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น ภายใต้คำสั่งของใครบางคนอย่างเคร่งครัด และไม่มีทางรวยเท่ากับการทำธุรกิจเอง ความคิดในตอนนั้นของผมเป็นเพียงความคิดของ "เด็ก" คนหนึ่ง ที่เหมารวมไปเองว่า "มนุษย์เงินเดือน" ทุกคนต้องเป็นแบบนั้น

แท้จริงแล้ว มนุษย์เงินเดือนเองก็มีหลายระดับ ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องทำงานย่ำอยู่กับที่ไม่ก้าวหน้าไปไหน สิ่งสำคัญที่แท้จริงคือ การเลือก Career Path ที่จะเดินก้าวไป ความสามารถในการทำงานและการเข้าหาผู้ใหญ่ การไต่เต้าขึ้นไปจนถึงระดับผู้บริหารได้นั้นจริงอยู่ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และมีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถทำได้ แต่หากมองกันจริงๆแล้ว การทำธุรกิจให้สำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นก็ยากเย็นไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในยุคแห่งการแข่งขันเช่นนี้

ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดถึงโอกาสในความสำเร็จนั้นไม่ใช่ตัวเลขรายได้ที่เราได้รับ แต่เป็นจำนวนเงินที่เราสามารถเก็บออม และวิธีการออม ของเรามากกว่า ไม่มีประโยชน์เลยหากเราหาเงินได้เดือนละแสนแต่ใช้จ่ายจนเหลือเก็บไปฝากธนาคารได้เพียงเดือนละห้าพันบาท และรับดอกเบี้ย 2% ต่อปี หากเปรียบเทียบกับการหาเงิน 5หมื่นบาท แต่เก็บออมได้ เดือนละหนึ่งหมื่นบาทในหุ้นสามัญและได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนสามารถมี Financial Freedom ในระดับหนึ่งได้ภายในอายุ 60ปี โดยไม่ต้องทำธุรกิจ หากศึกษาการออมเงินในหุ้นสามัญ และมีวินัยในการลงทุน

ความฝันอันสวยหรูของผมที่เคยวาดไว้คือการเป็นเจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ผมชอบ เป็นธุรกิจที่มีการเจริญเติบโต และมั่นคง จนวันๆหนึ่งผมแทบไม่ต้องทำอะไร นั่งเป็นเถ้าแก่ ใช้เงินโดยไม่ต้องคิดอะไรให้มาก แต่ยิ่งผมโตขึ้นมากเท่าไหร่ ผมก็เริ่มเห็นอุปสรรคต่างๆมากมาย รวมถึงการแข่งขันที่บ้าคลั่ง ข้อเสียของการประกอบธุรกิจ SME เริ่มผุดขึ้นมาในหัวของผมมากขึ้นทุกวัน ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าทุกธุรกิจในโลกนี้ล้วนมีความเสี่ยง ไม่ต่างไปจากการลงทุนในหุ้นสามัญ

สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ใช่จะบอกว่าการทำธุรกิจนั้นไม่ดี เพราะหากการทำธุรกิจนั้นไม่ดี พ่อกับแม่ และตัวผมก็คงไม่มีวันนี้ แต่ผมต้องการจะชี้ให้เห็นอีกมุมมองที่ต่างไปเท่านั้น

การลงทุนในหุ้นที่ผมพูดถึงในที่นี้ ไม่นับรวมถึงการซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรนะครับ

1. อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความก่อนว่าการลงทุนในหุ้นนั้นก็เหมือนกับการที่เราซื้อต่อความเป็นเจ้าของในกิจการหรือธุรกิจนั้น เพียงแต่เราไม่ต้องลงมือบริหารเอง เพราะเราและผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ได้ลงมติที่จะจ้างผู้บริหารรวมถึงพนักงานต่างๆมา Run Business ซึ่งแทนที่เราจะเสียเวลามาบริหารเอง เรานำเวลาเหล่านั้นไปหาเงินทางอื่น และเก็บออมมาซื้อหุ้น รวมถึงศึกษาการลงทุนเพิ่ม

2. หน้าที่ของเราเปลี่ยนจาก "การบริหารธุรกิจ" เป็น "การวิเคราะห์ธุรกิจ"

3. หุ้นเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงมาก โดยหากเรามองเห็นถึงปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง หรือมีอะไรที่จะทำให้ธุรกิจที่เราถือหุ้นอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไป เราก็สามารถขายหุ้นออกไปได้อย่างง่ายดาย และไม่ต้องขายขาดทุน แตกต่างจากการขายทรัพย์สินในเวลาที่เราเลิกทำกิจการ (Liquidate) หรือธุรกิจส่วนตัว ที่ต้องขายออกไปในราคาที่ต่ำมากเนื่องจากขาดสภาพคล่อง จุดนี้นับเป็นสิ่งที่สำคัญมากในแง่ของความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค หากเราเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหุ้น Kodak เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หากเราเป็นคนที่รู้ทันข่าวสาร รู้ถึงการเกิดใหม่ของสินค้าที่เรียกว่า "กล้อง Digital" ซึ่งเป็น Threat ที่สำคัญของกิจการฟิล์มกล้อง เราก็สามารถขายหุ้นทั้งหมดออกไปได้ ในทางกลับกัน หากเราในตอนนั้น ลงมือประกอบกิจการผลิตฟิล์มกล้อง ซื้อทั้งเครื่องจักรสำหรับผลิตฟิล์ม และเช่าโรงงาน รวมถึงการจ้างพนักงานจำนวนมาก ถามว่า เราจะทำอย่างไร? ขายเครื่องจักรทั้งหมดในราคา 40% ของต้นทุน? Layout พนักงาน 80% หรือทนทำต่อไปจนเจ๊งเหมือน Kodak ความเสี่ยงในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวมีโอกาสพบเจอทั้งสิ้น ทั้งๆที่ปกติก็ยากอยู่แล้วที่ต้องแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่

4. การศึกษาธุรกิจอย่างละเอียดนั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นและใช้เวลามาก และมันเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเราต้องการเปลี่ยนประเภทธุรกิจ เช่นจากตอนแรก เราทำธุรกิจขายกระเป๋า จนวันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่าธุรกิจอิ่มตัว อยากจะไปทำธุรกิจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขายขนม เราก็ต้องเริ่มศึกษาใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับธุรกิจขนมจากศูนย์ เพราะกลุ่มลูกค้าเปลี่ยน คู่แข่งเปลี่ยน คู่ค้าเปลี่ยน รวมไปถึงการสร้าง Connection ใหม่ๆทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจขนม เพราะการเริ่มธุรกิจใหม่โดยไม่ศึกษาให้รอบคอบก่อนนั้น ก็เหมือนกับการเอาเงินที่เราหามาได้จากธุรกิจตัวเก่าอย่างยากเย็นไปละลายน้ำ

5. การประกอบธุรกิจด้วยตนเอง กำไรที่ได้มานั้นส่วนหนึ่งต้องนำไปหมุนเวียน เช่นเดียวกับ Current Assets ในหุ้น อีกส่วนหนึ่งก็ต้องนำไปลงทุนซ้ำ (Reinvest) เช่นเดียวกับหุ้น จนเหลือเงินเพียงส่วนเดียวที่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับ เงินปันผลจากหุ้น หากเรามองภาพใหญ่ออกดังนี้ เราจะเห็นได้ว่า การที่เราทำธุรกิจสำเร็จใหญ่โตและมีการขยายกิจการนั้นก็แทบจะไม่แตกต่างกับการซื้อหุ้นที่ดี มีการเติบโตของกำไร และขยายกิจการแต่อย่างใด

6. การประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจจนมีกิจการที่มั่นคง อยู่ตัวมีลูกน้องที่ไว้วางใจ มีคนบริหารแทนเต็มตัว จนเราสามารถเกษียนตัวเองได้ จนเรียกได้ว่าเป็น Passive Income นั้นก็แทบจะไม่แตกต่างกับการถือหุ้นที่แข็งแกร่ง มีผู้บริหารที่มีความสามารถ และจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

7. การลงทุน กับการประกอบธุรกิจเป็นสิ่งที่คู่กัน หากไม่มีนักลงทุน บริษัทใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถระดมเงินมาลงทุนได้ เช่นเดียวกัน หากมีแต่นักลงทุนไม่มีใครทำธุรกิจ นักลงทุนก็ไม่รู้จะไปซื้อหุ้นของใคร ทั้งสองอาชีพนั้นมีความสำคัญเท่าๆกัน และมีข้อดีข้อเสียของตัวมันเอง

8. นักธุรกิจที่เก่ง ไม่ใช่นักลงทุนที่เก่งเสมอไป เช่นเดียวกัน ไม่ใช่นักลงทุนทุกคนที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจที่ดี เราทุกคนต่างมีความสามารถ และความถนัดที่แตกต่างกันออกไป หากเพียงแต่เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราถนัด ผมเชื่อว่า ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ครับ

ติดตามอ่านบทความของผมได้ใน Blog นะครับ http://jo-of-glue.bloggang.com
ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอ่านจนจบครับ ^^
iruma
Verified User
โพสต์: 60
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ไปขุดมาจากหนังสือเซียนหุ้นมือทองที่อ.นิเวศน์เคยเขียนมาให้ครับ

19 พฤศจิกายน 2545

คอลัมน์ โลกในมุมมองของ Value Investor ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ทำธุรกิจ VS ลงทุนซื้อหุ้น
ถ้ามีเพื่อนมาชวนลงทุนเปิดร้านอาหาร นอกจากจะต้องดูว่ากิจการจะดีหรือไม่ ต้องลงทุนเท่าไรและจะกำไรอย่างไรแล้ว สิ่งที่ควรจะทำก็คือ ลองเปรียบเทียบการทำร้านอาหารเองกับการลงทุนซื้อหุ้นเอสแอนด์พี (S&P) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

เพราะการทำร้านอาหารเองกับการซื้อหุ้น S&P ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัททำร้านอาหารในตลาดนั้นมีอะไรคล้ายกันมากแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่ขนาดของธุรกิจแตกต่างกัน ผู้บริหารเป็นคนละคน โดยที่การเปิดร้านอาหารนั้นผู้บริหารอาจจะเป็นเพื่อนที่เรารู้จักหรือเป็นตัวเราเอง ในขณะที่ผู้บริหารบริษัท S&P นั้น เราอาจจะไม่รู้จักเลย

ข้อแตกต่างระหว่างการทำธุรกิจเองกับการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกนั้นมีอยู่หลายข้อและจะต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะลงทุนทำธุรกิจเองหรือลงทุนซื้อหุ้นในตลาดดีกว่า

ข้อดีของการทำธุรกิจเองข้อแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ เราสามารถควบคุมกิจการได้อย่างเต็มที่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะต้องเป็นประโยชน์แก่ตัวธุรกิจและตัวเราเองที่เป็นผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นลูกจ้างตั้งแต่พนักงานจนถึงผู้จัดการจะเหลวไหล โกง หรือเอาเปรียบบริษัทยาก นอกจากนั้นถ้าเรามีหุ้นส่วน ก็คงจะต้องเป็นหุ้นส่วนที่เราไว้ใจและพูดกันรู้เรื่อง และมีผลประโยชน์แบบเดียวกัน มิฉะนั้นเราคงไม่เข้าหุ้นทำธุรกิจด้วย

ข้อดีของการทำธุรกิจข้อสองก็คือ การทำธุรกิจในเมืองไทยนั้นสามารถหลบภาษีได้ง่ายโดยเฉพาะเวลามีกำไรก็มักจะทำตัวเลขไม่ให้มีกำไรเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล ดังนั้นต้นทุนของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงมักต่ำกว่าบริษัทจดทะเบียน เจ้าของธุรกิจจึงได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนต้องเสียภาษีสูงถึง 30% ของกำไร และภาษีอื่น ๆ เช่น VAT ก็ต้องจ่ายเต็มเช่นเดียวกัน

ข้อดีข้อที่สามของการทำธุรกิจเองก็คือ เวลาที่ธุรกิจประสบความสำเร็จ บริษัทหรือกิจการสามารถกู้เงินมาใช้ได้มาก ซึ่งการกู้เงินนี้สามารถที่จะทำให้เจ้าของร่ำรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ลองดูตัวเลขสมมุติต่อไปนี้

กิจการลงทุน 10 ล้านบาท แต่กู้เงินมา 20 ล้านบาท รวมเป็น 30 ล้านบาท เงินก้อนนี้ลงทุนเปิดร้านอาหาร 5 แห่ง ได้กำไรปีละ 20% หรือกำไรปีละ 6 ล้านบาท คิดแล้วลงทุนเพียง 10 ล้านบาท แต่กำไรปีละถึง 6 ล้านบาท หรือเท่ากับ 60% ต่อปี ซึ่งสูงมาก ทำเพียงไม่กี่ปีก็เห็นหน้าเห็นหลัง

แต่ข้อเสียของการทำธุรกิจเองก็มีหลายข้อเหมือนกันที่สำคัญก็คือ การลงทุนทำธุรกิจเองมักจะต้องใช้เงินค่อนข้างมาก บ่อยครั้งต้องใช้เงินเก็บสะสมเกือบหมดเพื่อที่จะทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าธุรกิจล้มเหลวเราก็หมดตัว เผลอ ๆ อาจจะต้องเป็นหนี้ NPL บ้านช่องและทรัพย์สินถูกแบงค์ยึดอีกต่างหาก

ข้อเสียข้อที่สองก็คือ การทำธุรกิจเองนั้นเจ้าของจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจค่อนข้างลึกซึ้ง และจะต้องเหน็ดเหนื่อยมากกับการดูแลธุรกิจ บางทีคิดจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจบ้างก็จะต้องคอยพะวงกับตัวธุรกิจตลอดเวลา คุณภาพของชีวิตอาจจะลดหย่อนลงโดยเฉพาะในยามที่ธุรกิจมีปัญหา

ข้อเสียข้อที่สามของการทำธุรกิจเองก็คือ ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมามักเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ยังไม่แข็งแรงและมีคู่แข่งมาก ดังนั้นธุรกิจจึงต้องต่อสู้แข่งขันกันตลอดเวลา และเนื่องจากธุรกิจมักจะไม่มีจุดเด่นเฉพาะและไมสามารถป้องกันให้คู่แข่งเข้ามาได้ ธุรกิจส่วนตัวจำนวนมากจึงมีผลการดำเนินงานที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ และมักจะอยู่ได้ไม่นาน เมื่อธุรกิจล้มเหลว เงินลงทุนที่เหลืออยู่ก็จะสูญไม่สามารถจะไปขายให้คนอื่นได้เพราะไม่มีสภาพคล่องเลย

มาดูด้านของการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บ้างว่ามีข้อดีอย่างไร เทียบกับการทำธุรกิจเอง

ข้อดีข้อแรกก็คือ การซื้อหุ้นในตลาดนั้น เราสามารถเลือกธุรกิจได้มากตั้งแต่ธุรกิจร้านอาหาร สร้างบ้านขาย เลี้ยงและขายกุ้งไปจนถึงการทำโรงปูนซีเมนต์ กิจการโรงแรม สถาบันการเงิน ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โรงไฟฟ้า ร้านหนังสือ เกือบจะพูดได้ว่า คุณอยากลงทุนในธุรกิจอะไร ตลาดหลักทรัพย์มีให้หมด ดังนั้นจึงไม่มีข้อจำกัดว่าคุณจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญถึงจะทำธุรกิจได้

ข้อดีข้อที่สองก็คือ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เราไม่ต้องใช้เงินมากในการซื้อหุ้นแต่ละตัว ดังนั้นเราสามารถกระจายลงทุนถึง 10 ธุรกิจได้โดยเงินเพียงไม่กี่แสนบาท และการลงทุนไม่ต้องลงทีเดียวเป็นก้อนใหญ่สามารถทะยอยลงทุนได้เรื่อย ๆ เมื่อเรามีเงินเพิ่มขึ้นจากการทำงานปกติของเรา
การกระจายการลงทุนออกไปได้หลาย ๆ ธุรกิจนั้นทำให้การลงทุนซื้อหุ้นนั้นปลอดภัยกว่าการทำธุรกิจด้วยตนเองมาก

ข้อดีข้อที่สามก็คือ เราสามารถขายหุ้นออกไปได้ทั้งในกรณีที่ลงไปแล้ว กิจการดีขึ้นทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นมีกำไรจากการลงทุน และในกรณีที่ลงทุนแล้วกิจการตกต่ำลงจนเราเห็นว่าถ้าลงทุนต่อจะอันตราย เราก็สามารถขาย "ธุรกิจ" นั้นทิ้งได้ถึงแม้ว่าจะต้องขาดทุนบ้าง เรียกว่าหุ้นนั้นมีสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือ

ข้อดีข้อที่สี่ก็คือ การลงทุนซื้อหุ้นเราไม่เหนื่อย เราเพียงแต่คิดและวิเคราะห์กิจการให้ดี ดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่มีราคาถูกกว่าราคาที่ควรจะเป็นค่อนข้างมากและมีความปลอดภัยหรือ Margin of Safety สูง เราก็สั่งซื้อหุ้น จากนั้นเราก็เพียงแต่ติดตามดูแลว่าธุรกิจยังดำเนินไปด้วยดี ทั้งหมดนี้ใช้เวลาและแรงงานน้อยมาก

ข้อเสียของการลงทุนซื้อหุ้นก็มีหลายข้อเช่นเดียวกัน ข้อแรกก็คือ การลงทุนซื้อหุ้นนั้นมักจะให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนเฉลี่ยน่าจะได้ประมาณปีละ 10% ถ้าเราลงทุนโดยมีความรู้หรือความสามารถไม่สูงนักแต่ก็ไม่ถึงกับแย่ เพราะในระยะยาวแล้วผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหุ้นในประเทศไทย ผมคิดว่าน่าจะโตประมาณปีละ 10% โอกาสมากกว่านี้มีน้อยเพราะกิจการของไทยที่ดีจริง ๆ มีไม่มาก

การที่ผมพูดว่าการลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนไม่สูงมากนี้ ผมเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการฝากเงินแล้ว การลงทุนซื้อหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ามาก เพราะผมเชื่อว่านับจากนี้ไปอีกนับ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยจะยังคงค่อนข้างต่ำอยู่ โดยเฉลี่ยน่าจะไม่เกิน 5% ต่อปี

ข้อเสียอื่น ๆ ของการลงทุนซื้อหุ้นซึ่งผมจะเขียนเหมารวมเลยก็คือ การลงทุนซื้อหุ้นนั้นเรามักจะถูกเอาเปรียบหรือถูกโกงจากเจ้าของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะเราไม่มีข้อมูลหรือความใกล้ชิดว่าเขาทำอะไรกับบริษัท ตัวเจ้าของเองก็ถือว่าตนมีอำนาจควบคุมกิจการค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และเห็นว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยมักไม่ค่อยสนใจว่าผู้บริหารหรือเจ้าของจะทำอะไร หรือถึงจะสนใจก็คงทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น การที่เจ้าของหรือผู้บริหารจะฉกฉวยประโยชน์จากบริษัทจึงเป็นเรื่องปกติ

หลังจากวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการทำธุรกิจและของการลงทุนซื้อหุ้นแล้ว หน้าที่ของเราก็คือจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะไปทางไหน
ความชอบและคุณสมบัติส่วนตัวของแต่ละคนก็มีส่วนมากที่จะกำหนดว่าเขาควรเป็นคนทำธุรกิจหรือควรเป็นนักลงทุน โดยส่วนตัวผมคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะมีความเหมาะสมที่จะเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า เพราะการทำธุรกิจส่วนตัวนั้น ต้องใช้ความสามารถและความอดทนสูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมหาศาล ซึ่งทำให้คนที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้น่าจะเป็นคนส่วนน้อยและเป็นคนที่พิเศษจริง ๆ เท่านั้น ส่วนการเป็นนักลงทุนนั้น คุณเพียงแต่ศึกษาหลักการลงทุนให้ดี ฝึกซ้อมวิธีการเลือกซื้อหุ้น และไม่ซื้อขายเก็งกำไรตามอย่างนักเล่นหุ้นทั่วไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2748
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ข้อดีอันหนึ่งของการทำธุรกิจที่อาจจะมองข้ามไปคือ เงินเดือนของผู้บริหารครับ

ถ้าลงทุนในหุ้น เราต้องเสียค่าจ้างผู้บริหารเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก บางทีก็มีปัญหากับการแบ่งปันผลประโยชน์กัน
ถ้าลงทุนในธุรกิจตัวเอง เราก็จะเป็นผู้บริหารเองและได้เงินเดือนส่วนนี้ จะนำเงินนี้มา reinvest หรือนำไปใช้ก็แล้วแต่
Vi IMrovised
multipleceilings
Verified User
โพสต์: 2141
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

vim เขียน:ข้อดีอันหนึ่งของการทำธุรกิจที่อาจจะมองข้ามไปคือ เงินเดือนของผู้บริหารครับ

ถ้าลงทุนในหุ้น เราต้องเสียค่าจ้างผู้บริหารเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก บางทีก็มีปัญหากับการแบ่งปันผลประโยชน์กัน
ถ้าลงทุนในธุรกิจตัวเอง เราก็จะเป็นผู้บริหารเองและได้เงินเดือนส่วนนี้ จะนำเงินนี้มา reinvest หรือนำไปใช้ก็แล้วแต่
เงินเดือนยังไม่เท่าไหร่ บางบริษัท ค่าตอบแทนหรือ bonus ........เงินไม่ถึงมือผู้ถือหุ้น :twisted:
M aterial catalyst
A ttitude & Perception
D isclipine
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2748
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

multipleceilings เขียน:
vim เขียน:ข้อดีอันหนึ่งของการทำธุรกิจที่อาจจะมองข้ามไปคือ เงินเดือนของผู้บริหารครับ

ถ้าลงทุนในหุ้น เราต้องเสียค่าจ้างผู้บริหารเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก บางทีก็มีปัญหากับการแบ่งปันผลประโยชน์กัน
ถ้าลงทุนในธุรกิจตัวเอง เราก็จะเป็นผู้บริหารเองและได้เงินเดือนส่วนนี้ จะนำเงินนี้มา reinvest หรือนำไปใช้ก็แล้วแต่
เงินเดือนยังไม่เท่าไหร่ บางบริษัท ค่าตอบแทนหรือ bonus ........เงินไม่ถึงมือผู้ถือหุ้น :twisted:
ใช่เลยครับขอบคุณที่ช่วยเสริมครับ คิดถึงบางบริษัทที่ปันผลแทบไม่มีแต่โบนัสผู้บริหารเกินสิบล้านบาท
Vi IMrovised
pot_c
Verified User
โพสต์: 766
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

เห็นด้วยครับว่าการแข่งขันปัจจุบันสูงมาก. ไหนยังจะมี aec เข้ามาอีก. ดังนั้นการลงทุนหุ้นที่ทำให้เราเป็นเจ้าของกิจการที่เข้มแข็งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำธุรกิจเอง. หรือการลงทุนแบบเก็งกำไรครับ. :D
ภาพประจำตัวสมาชิก
neuhiran
Verified User
โพสต์: 815
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอแชร์ประสพการณ์บ้างนะ ผมเองทำทั้งหมดที่ว่ามา 1.ลูกจ้าง 2.เจ้าของบริษัท 3.นักลงทุน
ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20ปี ถ้าถามว่าผมชอบแบบใหนมากที่สุด นั้นตอบค่อนข้างลำบาก
ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาเรื่องเงินและผลตอบแทนเป็นตัวตั้ง แน่นอนครับว่าผมต้องชอบแบบที่ 2และ 3
ส่วน 1 นั้นก็สนุกไปอีกแบบนึงได้เรียนรู้ เพื่อที่จะเติบโตไปเป็นแบบที่ 2 และ 3 อย่างแข็งแกร่ง

แต่ใครก็ตามที่มาปรึกษากับผมเรื่องการดำเนินชีวิตนะ ผมอยากให้เขาเริ่มที่ 1 ก่อน และทำงานแบบเต็มที่แบบสุดแรงเกิดไปเลย
แล้วคุณจะเห็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจเอง ไม่ว่าลูกค้า เจ้านาย หรือใครก็ตามที่ได้ทำงานร่วมกันกับคุณ ก็จะให้โอกาสกับคุณเอง
ขอเพียงใส่ใจทำให้เต็มที่แบบถอดหัวใจทำไปเลยอย่าออมแรง

แล้ว 2 จะตามมาเงินก็จะตามมา ส่วนแบบที่ 3 นั้นผมเริ่มตั้งแต่ ผมยังเป็นลูกจ้างอยู่เลย ตอนนั้นอาจจะมีเงินน้อยแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเวลาเจ๊งจะได้ไม่เจ๊งเยอะ

ถ้าเปรียบเทียบการทำธุรกิจกับการลงทุนนั้น ผมให้ความสำคัญเท่าๆกัน มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ผมขอแนะนำให้ทำทั้งสองอย่าง
ทั้งธุรกิจ และลงทุนในหุ้น คนทำธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะมีเงินเยอะกว่าลูกจ้าง และ รับความเสี่ยงได้มากกว่า เมื่อมาลงทุนในหุ้นเหมือนกับการ Reinvestment มากกว่านะ :D
pat4310
Verified User
โพสต์: 732
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

vim เขียน:
multipleceilings เขียน:
vim เขียน:ข้อดีอันหนึ่งของการทำธุรกิจที่อาจจะมองข้ามไปคือ เงินเดือนของผู้บริหารครับ

ถ้าลงทุนในหุ้น เราต้องเสียค่าจ้างผู้บริหารเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก บางทีก็มีปัญหากับการแบ่งปันผลประโยชน์กัน
ถ้าลงทุนในธุรกิจตัวเอง เราก็จะเป็นผู้บริหารเองและได้เงินเดือนส่วนนี้ จะนำเงินนี้มา reinvest หรือนำไปใช้ก็แล้วแต่
เงินเดือนยังไม่เท่าไหร่ บางบริษัท ค่าตอบแทนหรือ bonus ........เงินไม่ถึงมือผู้ถือหุ้น :twisted:
ใช่เลยครับขอบคุณที่ช่วยเสริมครับ คิดถึงบางบริษัทที่ปันผลแทบไม่มีแต่โบนัสผู้บริหารเกินสิบล้านบาท
ขายของให้ *** ในต่างประเทศ แล้วก็แทงหนี้ศูนย์
ให้ *** กู้ แล้วก็แทงหนี้ศูนย์
เอาเงินไปลงทุน *** แล้วก็บันทึกด้อยค่า
ตั้งบริษัท *** มาเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ บริษัทแม่ต้องซื้อผ่านบริษัท *** นี้เท่านั้น
จ้าง outsource ผ่าน บริษัท *** ของผู้บริหาร
เอาสินทรัพย์บริษัทมาเป็นสวัสดิการตัวเอง

ผู้ถือหุ้นมองตาปริบๆ
ลงทุนหุ้นดี มีสตอรี่ ราคาไม่แพง เดี๋ยวก็รวย
หนังสือเล่มสองผมครับ เจาะหุ้นร้อน สแกนหุ้นเด้ง การแคะหุ้นจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
5555
Verified User
โพสต์: 157
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ผมว่าไม่ว่าจะลงทุน หรือ ทำธุรกิจก็มีข้อดีข้อเสีย ตามที่เจ้าของกระทู้เขียนไว้ละครับ
แต่มีอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำธุรกิจ จะมีความเครียดตามมามากกว่านะ ผมว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการแข่งขัน เรื่องลูกน้อง เรื่องการหมุนเงิน และยิ่งบางธุรกิจที่จำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวนมาก พอเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นมา ระดับความเครียดก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเลยครับ (เหมือนที่บ้านผมเอง)

แต่การลงทุนมันก็แล้วแต่แนวทางการลงทุน ถ้าเป็นแบบ vi จริงๆ ก็ไม่น่าจะเครียดมากนะผมว่า ถ้าเรารู้จักกิจการที่เราลงทุนดีจิงๆ ไม่ว่ามันจะดี หรือไม่ดี มันก็มีวิธีในการตัดสินใจอยู่ แต่ถ้าเป็นเราทำธุรกิจเอง นี้ยากครับ บางทีเงินขาดมือ จากดินฟ้าอากาศ เช่น น้ำท่วมที่ผ่านมา หรือต้องเจอต้นทุนเพิ่ม เช่น ค่าแรง 300 ของรัฐบาลที่จู่ๆ ก็เพิ่มแบบจัดหนัก บางธุรกิจ ก็ปรับตัวไม่ทัน พอเงินจะขาด ไปขอกู้แบงค์ แบงค์เห็นว่าเราเงินจะขาด ก็ไม่ให้กู้อีก จะขายที่ดิน หรือทรัพย์สินบางส่วนออกไป ก็หาคนซื้อไม่ได้ จะปิดกิจการก็กลัวลูกน้องไม่มีงานทำ กลัวเสียหน้า กลัวต้องล้มละลาย และอีกสาระพัดความเครียดเลยครับ

แต่นั้นก็เป็นเพียงมุมมองอีกมุมเท่านั้นนะครับ
sakkaphan
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1111
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ขอนอกเรื่อง รกกระทู้หน่อยนึง หันแวบมาเห็นกระทู้นี้ view 555 view แล้วคนสุดท้ายที่reply คือคุณ5555 พอดี บังเอิ๊ญ บังเอิญ
55555555555555
ผมเป็นview ที่556
ความยากจนในจิตใจ คือความยากจนที่แท้จริง
neong
Verified User
โพสต์: 144
ผู้ติดตาม: 0

Re: การลงทุน vs. การทำธุรกิจ

โพสต์ที่ 11

โพสต์

แต่มีบางคนครับ ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการลงทุนและการทำธุรกิจ
ในความเห็นของผม วอร์เรนต์ บัตเฟต์ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่ ประสบความสำเร็จทั้งในการลงทุน และการทำธุรกิจ( บริหารบริษัท เบิร์กเชียร์ฯ ) ครับ
ไม่แน่ใจว่า ในประเทศไทย ตอนนี้ มีคนที่ประสบความสำเร็จได้เท่านี้ไหมครับ
"สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น "
โพสต์โพสต์