โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 6 สิงหาคม 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในการลงทุนของ “เซียน” หรือนักลงทุนที่ “มุ่งมั่น” นั้น ดูเหมือนว่าจะมีความคิดเกี่ยวกับอนาคตหรือแนวโน้มของกิจการเป็น 2 แนวทาง กลุ่มของเซียนที่กล้าได้กล้าเสียมากกว่า อายุน้อยกว่า กระตือรือร้นกว่า และมีสปิริตของ “นักเก็งกำไร” มากกว่า พวกเขาจะชอบการลงทุนในบริษัทที่กำลังมีการ “เปลี่ยนแปลง” ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นเป็นโอกาสที่เขาจะซื้อขายหุ้นทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว
นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งน่าจะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มแรกมาก พวกเขาน่าจะมีอายุมากกว่า อนุรักษ์นิยมกว่า เป็นพวกที่เน้นความปลอดภัยสูง และมีสปิริตของ “นักลงทุน” มากกว่าการเทรดหุ้น พวกเขาจะชอบการลงทุนในบริษัทที่มีความแน่นอนของผลประกอบการและชอบกิจการที่ “ไม่เปลี่ยนแปลง” ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ พวกเขาเชื่อว่ากิจการที่มีความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปง่าย ๆ นั้น จะทำให้เขาสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างแม่นยำหรือใกล้เคียงความเป็นจริง ดังนั้น การซื้อหุ้นลงทุนจะมีความผิดพลาดน้อยกว่ากิจการที่มีหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงสูง คนกลุ่มนี้มีความคิดว่าผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นมาก ๆ นั้น อยู่ที่การเติบโตของกิจการในอนาคตจากผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ของบริษัท พูดง่าย ๆ พวกเขาเชื่อว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัท ดังนั้น วิธีทำเงินก็คือ ซื้อหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าวแล้วถือไว้ยาว ๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นแต่การคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท
การเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วนแต่ก็สามารถจำแนกออกได้เป็นหลาย ๆ กลุ่มที่เราสามารถพบเห็นในตลาดหุ้นได้ดังต่อไปนี้
กลุ่มแรกที่พบได้มากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของบริษัทขนาดเล็กและโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีปัญหาหรือเคยมีปัญหาในการดำเนินงานและกำลัง “ฟื้นฟู” กิจการโดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มใหม่ การที่เป็นบริษัทขนาดเล็กทำให้การเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ” นั้นทำได้ง่าย วิธีการก็คือทำการเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ แล้วก็ประกาศเปลี่ยนธุรกิจ จากธุรกิจเดิมเป็นธุรกิจที่ “มีโอกาส” ทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว อาจจะเพราะผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เคยทำธุรกิจนั้นอยู่เช่น ธุรกิจรับเหมาหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรืออาจจะเป็นธุรกิจที่กำลัง “ร้อนแรง” และการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่ายเช่น ธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทนต่าง ๆ หรือถ้าเป็นบริษัทที่ทำทางด้านบริการก็อาจจะหันไปจับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิงหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลง “พื้นฐาน” ของกิจการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างสิ้นเชิงนั้น ถ้าว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ จริงอยู่ ในระยะยาวบริษัทก็อาจจะมีกำไรและทำให้บริษัทที่เคยมีปัญหาฟื้นตัวได้ แต่ถ้าหากกำไรที่ทำได้นั้น เป็น “กำไรปกติ” หรือเป็นกำไรที่เหมาะสมกับ “เงินลงทุน” ที่ใส่เข้าไปในบริษัท ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอาจจะเท่ากับ 10% ต่อปีในระยะยาว ถ้าเป็นแบบนี้ มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาหุ้นก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น—ในระยะยาว ความหมายก็คือ ใส่เงินใหม่เข้าไปเท่าไร ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น—ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ราคาหุ้นนั้นย่อมขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ” ของนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้า “สปอนเซอร์” หรือคนที่เข้ามาเปลี่ยนกิจการสามารถโน้มน้าวให้คนเชื่อว่าบริษัทจะสามารถทำกิจการใหม่ให้มีกำไรได้อย่างรวดเร็วและสูงเหมือนกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน คนก็จะเข้ามาซื้อหุ้นและทำให้ราคาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และดังนั้น คนที่เข้าไปเปลี่ยนกิจการหรือคนที่เข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อนก็สามารถขายหุ้นทำกำไรได้มากและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ
กลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานของกิจการที่เป็นบริษัทใหญ่ขึ้นมาและไม่มีปัญหาการดำเนินงานนั้น น่าจะเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงในวิธีหรือกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการเทคโอเวอร์กิจการที่เป็นคู่แข่ง และ/หรือ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของตน และในกระบวนการนั้น ทำให้เกิดความได้เปรียบเนื่องจากขนาดหรือทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาของลูกค้า ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่บริษัทจ่ายไป ลักษณะนี้จะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรับกับ “พื้นฐานใหม่” คนที่เข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อนในราคาต่ำก็จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ และก็เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไปทันทีเพียงเพราะว่านักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนเชื่อว่าสิ่งที่บริษัททำนั้นจะเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว ผลประกอบการที่ประกาศออกมาจะเป็นตัวกำหนดว่าพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ดีขึ้นหรือเลวลง และราคาหุ้นจะสะท้อนพื้นฐานนั้น
คนที่ “หากิน” กับความเปลี่ยนแปลงของกิจการนั้น บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานระยะยาวจริง ๆ พวกเขามองหาการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและมีผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ตัวอย่างเช่น บริษัทหรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายนั้น ถ้าราคาสินค้าหรือบริการกำลังปรับตัวขึ้นและเขาคิดว่าด้วยความไม่สมดุลของการผลิตและการบริโภคที่กำลังเกิดขึ้นจะทำให้ราคาโภคภัณฑ์มีการปรับตัวขึ้นไปอีกมาก แบบนี้ การซื้อหุ้นไว้ก่อนก็จะทำให้ได้กำไรมหาศาล อย่างไรก็ตาม คนที่สามารถคาดการณ์ได้จริง ๆ ก็หาได้ยาก โอกาสผิดพลาดมักจะมีสูง
การเล่นหุ้นที่กำลังมีการ “เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” นั้น เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ บ่อยครั้งเราไม่จำเป็นต้องคาดถูกหรือคาดผิดด้วยซ้ำ เราเพียงแต่คาดถูกต้องว่า “คนอื่นเชื่ออย่างไร” เพราะราคาหุ้นในระยะสั้นนั้นอยู่ที่ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ผลตอบแทนของการคาดการณ์ถูกต้องนั้นสูงมาก เช่นเดียวกัน ผลตอบแทนจากการคาดผิดก็เลวร้ายได้ไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม คนที่เล่นเกมนี้ต้องเข้าใจว่ามีบางคนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น อย่างน้อย “สปอนเซอร์” ก็รู้ดีกว่าคนนอก ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีพลังการซื้อและการชี้นำสูงก็อาจจะได้เปรียบรายย่อยที่เป็นฝ่ายรับข้อมูลมากกว่า
กลับมาในกลุ่มของคนที่หากินกับการ “ไม่เปลี่ยนแปลง” นี่คือยุทธศาสตร์การลงทุนที่ “น่าเบื่อ” เพราะโดยตัวธุรกิจเองนั้น ธุรกิจที่บริษัททำอยู่นั้นมักเป็นธุรกิจที่ไม่ใคร่มีความคิดสร้างสรรค์มากมายนัก เป็นธุรกิจที่เรียกว่า “รูทีน” ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นมานานส่วนใหญ่อาจจะนับสิบ ๆ ปี หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่เข้าข่ายก็มักจะเป็นกิจการที่ “แข็งแกร่ง” หรือ “ยิ่งใหญ่” ทั้งในด้านการตลาดและการเงินเมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ผลประกอบการนั้นมักจะคาดการณ์ได้แต่การเติบโตขึ้นเป็นหลายสิบหรือร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ ตัวหุ้นเองก็มักจะไม่ปรับตัวขึ้นหรือลงหวือหวา ดังนั้น ถ้าคนชอบที่จะมีชีวิตการลงทุนที่มั่นคงพอสมควรและไม่ต้องการความกังวลใจกับการลงทุนตลอดเวลา นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจและในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยก็อาจจะไม่แพ้การลงทุนที่เน้นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพพอ ๆ กัน